Responsive image
การออกแบบสถาปัตยกรรมโดยมีแนวคิดของระบบอุตสาหกรรม เป็นไปได้หรือไม่ ?
30 November 2017

ในฐานะที่เป็นสถาปนิก คำถามว่า ถ้าทำการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยมีแนวคิดของระบบอุตสาหกรรม เป็นไปได้หรือไม่ คำตอบแบบเร็วๆก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะการทำแบบอุตสาหกรรมคือการผลิต โดยมีปริมาณมากๆ มีการคิดต้นทุนและกำลังการผลิตที่ต้องมีประสิทธิภาพ และต้องมีราคาที่เหมาะสม ในขณะที่เราทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมทีละชิ้น แต่ละชิ้นก็มีโจทย์ท มีความต้องการในการใช้สอยที่แตกต่างกัน และอยู่ในบริบทที่แตกต่างกันไป

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสออกแบบงานประเภทหนึ่ง ซึ่งทำให้เรากลับมาคิดว่า ทำไมเราถึงไม่คิดว่างานประเภทนี้ สามารถคิดในระบบอุตสาหกรรม และผลิตในระบบอุตสาหกรรมได้
นั่นคืองานประเภทคอนโดมิเนียม

ปัจจุบันเราเชื่อว่าถ้านับจำนวนยูนิตของคอนโดมิเนียมที่สร้างกันในแต่ละปี มีหลายหมื่นยูนิต และกว่า70%ของจำนวนนั้นมีขนาดและผังที่ใกล้เคียงกัน การพัฒนาผังและรูปแบบยูนิตมาตรฐานของ developer หลายๆรายทำกันอย่างจริงจังโดยทีีมผู้ออกแบบ และ ทีม R&D , Marketing เพื่อให้ได้ยูนิตที่สมบูรณ์แบบ มีการสร้าง Lab room เพื่อทดสอบการใช้สอย ความสอดคล้องของงานสถาปัตยกรรม งานวิศวกรรม และการตกแต่งภายใน ก่อนการนำไปใช้จริง

น่าเสียดายว่า ในขั้นตอนการก่อสร้างจริงนั้น เราต้องสร้างยูนิตนั้นใหม่ทั้งหมด อาคารหนึ่งหลังมี 500 ยูนิต ก็ต้องสร้างขึ้นใหม่ทั้ง 500 ยูนิต เป็นงาน Handmade ที่ก่อสร้างกันหน้างานทั้งหมด 
ปัญหาก็คือการควบคุมคุณภาพของการก่อสร้างที่ยากมากๆ และคนที่ซื้อคอนโดมิเนียมรู้ดีว่าเมื่อซื้อแล้ว ก่อนจะโอนกรรมสิทธิ์ได้นั้น จะต้องมีการตรวจรับห้องกัน เจออะไรไม่เรียบร้อยก็ต้องรื้อแก้ไขกัน เรื่องเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ทุกๆยูนิต

แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นน้อยมากเวลาเราซื้อรถยนต์สักคัน นึกถึงรถยนต์ที่ส่งมอบให้เรา อย่างแรกเลยเขาขอให้เรารอสักเดือนสองเดือน เมื่อถึงกำหนดส่งมอบ เราไปรับรถ เปิดประตูที่ให้ความรู้สึกแน่น เบาะหุ้มพลาสติคก่อนส่งมอบ กลิ่นใหม่ สีเคลือบเงางาม สตาร์ทติดทันที แอร์เย็นฉ่ำ

ที่สำคัญคือเราเลือกสี เลือกเบาะ เลือกล้อแมกซ์และ option ต่างๆได้ตามใจด้วย

ทำไมคอนโดมิเนียม ซึ่งราคาไม่ต่างจากรถยนต์หนึ่งคัน และผลิตปีละเป็นหมื่นยูนิต ถึงไม่สามารถทำได้

เรื่องนี้น่าสนใจจริงๆ